ห้างสรรพสินค้า

30 ปีที่ผ่านมาแทบทุกจังหวัด จะมีอย่างน้อย 1 – 2 ห้างสรรพสินค้า และเจ้าของห้างเหล่านั้นก็ถือว่าเป็นเศรษฐีรายหนึ่งในจังหวัดเลยทีเดียว จุดเริ่มต้นของห้างฯ เหล่านี้ มาจากการรับฝากขายในรูปแบบแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ห้างฯ หลายรายก็พัฒนารูปแบบมาเรื่อย ๆ 

เวลาผ่านไป การทำห้างแบบ ดิพาร์ทเม้นสโตร์ (department store) มันเริ่มถึงทางตัน นั่นคือพัฒนาต่อไปไม่ได้อีก ไม่ว่าจะลงทุนเพิ่มการตกแต่ง การจัดวางให้สวยงามขนาดไหนก็ตาม เป็นเพราะอะไรบ้าง dindidi เราจะมาสรุปให้ท่านเห็นแบบชัด ๆ 3 ประการดังนี้

  1. เพราะขนาดพื้นที่ที่เล็ก ทำให้จำนวนสินค้าไม่ครบขนาดและไซส์ บวกกับการจัดหมวดหมู่ ที่มีการจัดหมวดหมู่ จัดโซนนิ่งให้สินค้าประเภทเดียวกัน อยู่ในบริเวณเดียวกัน หมายถึงการแข่งขันก็สูงไปด้วย พีซีค่ายไหนขายเก่งก็ขายได้เยอะ และ แบรนด์ต่าง ๆ ต้องมาจ่ายค่า GP สูงตั้ง 20%-40% ขั้นต่ำตามประเภทของสินค้า ซึ่งยังไม่ได้นับต้นทุนสิ้นค้าที่มาจากโรงงาน ดังนั้นเจ้าของสินค้าเองก็เหลือกำไรไม่มาก เพราะจะขายแพงมากก็ไม่ได้
  2. ในขณะที่แบรนด์เหล่านี้ การฉีกตัวเองออกมาเช่าเป็นร้านข้างนอก ดิพาร์ทเม้นสโตร์ มาอยู่ในส่วนของพลาซ่า เสียเค่าเช่าเป็นรายเดือน ไม่ได้อิงตามยอดขาย ขายได้มากก็กำไรมาก แต่ค่าเช่าเท่าเดิม แบรนด์ที่แข็งแรงก็จะออกมาเปิดเช่าจะคุ้มกว่ามี stock สินค้าได้มากกว่า ไม่ต้องแข่งกับใคร หรืออย่างน้อยคู่แข่งก็ไม่ได้เยอะเหมือนอยู่ในส่วนของ ดิพาร์ทฯ นี่ก็ส่วนหนึ่ง
  3. ประการต่อไปคือ ส่วนของดิพาร์ทเม้นสโตร์โดยทั่วไปห้างก็จะทำให้แยกโซนออกไป แม้ว่าจะอยู่ในศูนย์การค้าเดียวกัน ทำให้ดิพาทฯ เป็นเหมือนเขตปกครองพิเศษ เป็นเหมือนถ้ำที่มีทางเข้าทางเดียวแล้วค่อยไปมีทางเดินเป็นเขาวงกตอยู่ด้านในอีกที ทำให้ต้องเข้าถ้ำก่อนถึงจะได้เห็นสินค้าต่าง ๆ ยกเว้นส่วนของ Jewelry จะอยู่ในส่วนหน้าสุด เพราะรายได้ดี กำไรสูง

ด้วยเหตุผลสองอย่างนี้ทำให้ส่วนของ ดิพาร์ทเม้นสโตร์ แทบจะเป็นแดนสนยา ทำให้หลาย ๆ ห้างเริ่มปรับยุทธศาสตร์ โดยทุบผนังถ้ำออก นั่นคือทำให้ ส่วนของ ดิพาทฯ เข้าออกได้ทุกช่องทาง มองเห็นได้ง่าย แต่นั่นก็ปรับได้แค่การมองเห็น (visibility) แต่ไม่ได้แก้โจทย์ในข้อ 1 และ 2 ไม่ได้

ทั้งนี้ไม่ได้นับว่าการแข่งขันจากห้างใหญ่จากส่วนกลางที่รุกเข้าไปในแต่ละจังหวัด และ ห้างไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่ตอนนี้ได้ปรับตัวได้เร็วมากนั่นคือ Short Cut จาก Discount Store มาเป็น Plaza โดยแทบจะสมบูรณ์ และปล่อยให้ department store มองตามแบบตาปริป ๆ 

แต่มันจะไม่จบแค่นั้น ห้างต่างจังหวัดหลาย ๆ ห้างฯ เริ่มต้นมาเป็นแบบนี้ คือ 80% ของพื้นที่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้เป็น ดิพาร์ทเม้นสโตร์ บางห้างก็เป็นอาคารสูง 4-5 ชั้น และเป็น department store ทั้งหมดยกเว้น ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นของตัวเอง บางห้างปรับตัวได้ทันก็รอดไปเช่น ห้างเสริมไทยคอมเพลกซ์ ที่มหาสารคาม ทวีกิจ บุรีรัมย์ เป็นต้นที่ได้แยกตัวออกไป พัฒนาโครงการใหม่ได้ทัน และ แบ่งสัดส่วนของห้าง และ พลาซ่าที่เหมาะสม นั่นคือเพิ่มส่วนของพล่าซ่าให้เยอะขึ้น เก็บกินค่าเช่าจากร้านค้าได้เป็นกอบเป็นกำ ลดสัดส่วนของดิพาร์ทฯ ลงเรียกว่าปรับตัวได้ทันเวลา น่าชื่นชมในวิสัยทัศน์

แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหากหนี disruption ไม่ออก

ยังมีอีกหลายห้างที่ไม่ยอมปรับตัว หรือ ยังยึดมั่นในความสำเร็จเดิม ๆ ก็จะค่อย ๆ ประสบกับภาวะการถดถอยของยอดขายและรายได้ แต่สิ่งที่ไม่ได้ลดลงไปนั่นคือ ค่าใช้จ่าย ค่าแอร์ ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภคที่ต้องจ่ายแบบจัดเต็ม นั่นคือต้องเปิดแอร์ทุกชั้น ค่าใช้จ่ายเหล่านี้มีแต่เพิ่มเขึ้น ในขณะที่ความนิยมของ ดิพาร์ทฯ ลดลงไปเรื่อย ๆ ถึงวันหนึ่งไม่สามารถแบกไหวก็จะเริ่มปิดทีละชั้น ๆ และ ท้ายที่สุดจะค่อย ๆ จางหายไป ยกเว้นเปลี่ยนได้ทันการณ์ แต่ดูเหมือนว่า ณ วันนี้หลาย ๆ ห้างก็ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยน พอมี covid-19 เข้ามาก็ฝังตะปูเข้าไปอีกดอก คงต้องดูต่อไปว่าเราอาจจะเห็น ดิพาร์ทเม้นสโตร์ หลาย ๆ ที่ปิดตัวเองลงไปในไม่ช้า

แต่ยังมีอีกประเภทหนึ่งที่ปรับตัวได้แทบจะทันเลยละ แยกตัวออกมาจากธุรกิจดิพาร์ทเม้นต์สโตร์แบบเดิม ๆ ที่ทำไว้อย่างยิ่งใหญ่ สร้างอาคารใหม่ สวยงาม แบ่งโซนไว้อย่างพอเหมาะ แต่ว่าเจ้าของห้างเอง ก็ไม่ลืมที่จะแบกความสำเร็จเดิม ๆ สมัยที่ทำห้าง แบกติดตัวมาด้วย ความยิ่งใหญ่ ความภูมิใจ รวมทั้งวิธีการ เจรจา การตัดสินใจ ฯลฯ ซึ่งใช้รูปแบบเดิม ๆ ที่ ดีลกับ ซัพพลายเออร์ มาก่อน 

แต่พอเอาวิธีเดิม ๆ มาใช้กับ แบรนด์ ที่เป็นผู้เช่ารายสำคัญซึ่งมีอยู่ประมาณ 40-50 แบรนด์ และผู้บริหารแบรนด์พวกนี้ เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีวิธีการทำงานที่ต่างออกไปจากเดิมไปมาก วิธีการเดิม ๆ พอมาเจอวิธีการทำงานของเถ้าแก่โบราณ ก็ถึงกับอึ้งกัน พออึ้งก็เกิดความสงสัย ความเชื่อมั่นก็ลดลง ความลังเลก็เพิ่มขึ้น ท้ายที่สุด แต่ละแบรนด์ก็รอ ก็ชะลอการเปิด และ ในเมื่อต่างฝ่ายต่างรอกัน หรือบางรายอาจจะคุยกันเองระหว่างแบรนด์ แชร์ความคิดต่อกัน แผนการเปิดก็ถูกระงับในที่สุด พอหลาย ๆ แบรนด์ระงับการเปิด รายได้ที่คาดหวังจากค่าเช่า ก็หายไปสิ้น นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่งของ disruption ที่ไม่ได้เกิดจากวิสัยทัศน์ แต่เกิดจากทัศคติที่ไม่ได้เปลี่ยนตามการณ์เวลา